เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 9.รตนวรรค 2.รตนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ครั้นล่วง ราตรีนั้นทั้งราตรี บุรุษนั้นสั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต
แล้วส่งคนไปบอกเวลา ถอดแหวนวางไว้ เอาภัตตาหารประเคนภิกษุเหล่านั้น พลาง
กล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายฉันแล้วค่อยกลับ กระผมจะไปทำงาน” ลืม
แหวนไว้ไปแล้ว
ภิกษุทั้งหลายพบเข้าจึงกล่าวว่า “ถ้าพวกเราไป แหวนนี้จะหาย” จึงอยู่ในที่
นั้นเอง
ครั้นบุรุษนั้นกลับมาจากทำงานเห็นภิกษุเหล่านั้น จึงได้กล่าวดังนี้ว่า “พระ
คุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย เหตุไรพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงยังอยู่ในที่นี้เล่า”
ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเล่าเรื่องนั้นให้บุรุษนั้นทราบ ครั้นไปถึงกรุงสาวัตถี
แล้วจึงได้บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือ
ของที่สมมติว่าเป็นรัตนะในอารามหรือในที่พักแล้วรักษาไว้ด้วยตั้งใจว่า ‘เจ้าของจะรับ
คืนไป” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[505] อนึ่ง ภิกษุใดเก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในอารามหรือในที่พัก อนึ่ง ภิกษุพึงเก็บหรือใช้ให้
เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะในอารามหรือในที่พักแล้วรักษาไว้ด้วย
ตั้งใจว่า ‘เจ้าของจะรับคืนไป’ นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น
เรื่องคนรับใช้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :596 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 9.รตนวรรค 2.รตนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[506] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รัตนะ ได้แก่ แก้วมุกดา แก้วมณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ
เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว นี้ชื่อว่ารัตนะ
ที่ชื่อว่า ของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ได้แก่ เครื่องอุปโภคบริโภคของมนุษย์ นี้
ชื่อว่าของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ
คำว่า เว้นไว้แต่ในอารามหรือในที่พัก คือ ยกเว้นแต่ในอารามหรือในที่พัก
ที่ชื่อว่า ในอาราม คือ สำหรับอารามที่มีรั้วล้อม กำหนดเอาภายในอาราม
สำหรับอารามที่ไม่มีรั้วล้อม กำหนดเอาอุปจาร
ที่ชื่อว่า ในที่พัก คือ สำหรับที่พักมีรั้วล้อม กำหนดเอาภายในที่พัก สำหรับ
ที่พักที่ไม่มีรั้วล้อม กำหนดเอาอุปจาร
คำว่า เก็บ คือ ภิกษุถือเอาเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้เก็บ คือ ภิกษุใช้ให้ผู้อื่นถือเอา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า อนึ่ง ภิกษุพึงเก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ
ในอารามหรือในที่พักแล้วรักษาไว้ ความว่า ภิกษุพึงกำหนดหมายรูปพรรณ
หรือตำหนิแล้วเก็บรักษาไว้ แล้วประกาศว่า “ผู้ใดของหาย ผู้นั้นจงมารับเอาไป”
ถ้าเขามาในที่นั้นพึงถามเขาว่า “สิ่งของของท่านเป็นเช่นไร” ถ้าเขาบอกรูปพรรณ
หรือตำหนิ ถูกต้อง พึงให้คืน ถ้าบอกไม่ถูกต้อง พึงบอกเขาว่า “ท่านจงค้นดูเถิด”
เมื่อจะจากไปจากอาวาสนั้น พึงมอบไว้แก่ภิกษุผู้เหมาะสมในอาวาสนั้นแล้ว
ค่อยจากไป ถ้าไม่มีภิกษุที่น่าเชื่อถือ พึงมอบไว้แก่คหบดีผู้เหมาะสมในที่นั้นแล้ว
ค่อยจากไป
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :597 }